สวัสดีครับเพื่อนๆ ทุกคน วันนี้ผมขอเขียนบล็อกเรื่อง The Gulf of Thailand นะครับ พอดีเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว
ผมมีโอกาสได้เข้าสัมภาษณ์ Coop กับบริษัท Chevron แล้วเค้าก็ถามเกี่ยวกับ The Gulf of Thialand ครับ
แต่ผมก็ตอบไม่ได้ ก็เลยมาหาข้อมูล แล้วขอบอกต่อไว้ประดับความรู้กับเำพื่อนๆ แล้วกันนะครับ ^^
1. ลักษณะภูมิประเทศและภูมิสัณฐาน บริเวณอ่าวไทย (The Gulf of Thailand)
อ่าวไทยหมายถึงบริเวณทะเลด้านตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งเปิดไปสู่ทะเลจีนใต้ ขอบเขตของอ่าวไทยตอนบนต่อเนื่องกับดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาของ ที่ราบลุ่มภาคกลาง และชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ทิศตะวันตกติดต่อกับชายฝั่งทะเลภาคใต้ ส่วนทิศตะวันออกและทิศใต้ติดต่อเขตกับน่านน้ำของประเทศกัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีเขตน่านน้ำห่างจากฝั่งทะเลของแต่ละประเทศ 12 ไมล์ทะเล
Pradidtan and Dook (1992) กล่าวถึง การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ว่าลักษณะภูมิประเทศของท้องทะเลในอ่าวไทยไม่ราบเรียบ แต่มีสัน (ridges) และแอ่ง (basins) มากมาย สันและแอ่งเหล่านี้วางตัวขนานกันไปในทางแนวเหนือ-ใต้ในลักษณะของ กราเบน (graben) และ half graben สันบริเวณเกาะกระ และจังหวัดนราธิวาสเป็นแนวแบ่งท้องทะเลอ่าวไทยออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก
ด้านตะวันออกประกอบด้วยแอ่งที่สำคัญ 2 แอ่ง คือ แอ่งปัตตานี และแอ่งมาเลย์ ซึ่งตะกอนที่สะสมตัวในสองแอ่งนี้เป็นตะกอนพื้นทวีปในยุคเทอร์เชียรี มีความหนาประมาณ 4 กิโลเมตร แอ่งในบริเวณนี้ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ (gas field) ที่สำคัญของประเทศ เช่น แหล่งบงกช แหล่งจักรวาล แหล่งฟูนัน เป็นต้น ส่วนด้านตะวันตกของท้องทะเลอ่าวไทยประกอบด้วยแอ่งขนาดเล็กประมาณ 10 แอ่ง ตะกอนเทอร์เชียรี ที่สะสมตัวนั้นอยู่ในระดับตื้น มีความหนาประมาณ 300 เมตร แอ่งที่สำคัญและพบแหล่งปิโตรเลียมได้แก่ แอ่งชุมพรและแอ่งสงขลา เป็นต้น สําหรับแอ่งอื่นๆ ได้แก่ แอ่งหัวหิน แอ่งประจวบคีรีขันธ์ แอ่งกระด้านตะวันตก และแอ่งกระด้านตะวันออก
แอ่งเทอร์เชียรีในอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นแอ่ง ขนาดเล็ก ยกเว้นแอ่งหัวหิน แอ่งชุมพร แอ่งกระด้านตะวันตกและแอ่งปัตตานี ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร
2 ธรณีวิทยาบริเวณภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้
อ่าวไทยซึ่งติดต่อและอยู่ทางตะวันตกของทะเลจีนตอนใต้ เป็นแนวที่ต่อมาจากที่ราบภาคกลาง มีการสะสมตัวของชั้นตะกอนในสภาวะที่เป็นน้ำจืด ตั้งแต่สมัยโอลิโกซีนเป็นต้นมา ชั้นตะกอนหินหนาถึง 8,000 เมตร หรือกว่านั้น เพราะยังไม่มีการเจาะทะลุถึงชั้นล่างสุด นอกจากนั้นใต้บริเวณอ่าวไทยปรากฏค่าความร้อนจากใต้พิภพสูงกว่าปกติ
จากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ และการเจาะสำรวจพบรอยเลื่อนในแนวเหนือใต้ ซึ่งเคลื่อนตัวตลอดเวลาในระหว่างการสะสมตัวของตะกอน มีการทรุด (rifting) ตั้งฉากกับแนวรอยเลื่อนปกติเหล่านี้ แต่เกี่ยวพันและสืบทอดมากับแนวจุดอ่อนของแนวเลื่อนเจดีย์สามองค์ (sinistral Three Pagoda Fault Zone) ซึ่งมีแนวตะวันตกเฉียงเหนือและมีกำเนิดมาตั้งแต่มหายุคมีโซโซอิก หลักฐานของการเกิดธรณีสัณฐานแบบแยก (extension tectonics) ซึ่งก่อให้เกิดอ่าวไทย เห็นได้จาก ฮอรสต์ และกราเบน (horst and graben) ตลอดทิวเขาภาคเหนือและตะวันตก ที่ราบภาคกลางและทางเหนือขึ้นไปอีกในประเทศพม่าและลาว เป็นต้น รอยเลื่อนเหล่านี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการยกตัวของภูเขาและพื้นที่ข้างเคียง และตามด้วยการยกตัวของหินควอเทอร์นารี ขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจแสดงถึงการยกตัวอย่างรวดเร็วในยุคควอเทอร์นารี
ในบริเวณอ่าวไทยประกอบด้วยแอ่งสะสมตัวของหิน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปลายยุคครีเทเชียส-เทอร์เชียรี โดยมีการเลื่อนเป็นบล็อกในแนวเหนือใต้เนื่องจากอิทธิพลการเคลื่อนตัวของแผ่น เปลือกโลกอินเดียชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย เป็นเหตุให้แผ่นดินส่วนกลางของประเทศบริเวณอ่าวไทยเปิดกว้างมากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่สมัยโอลิโกซีนเป็นต้นมา แอ่งเทอร์เชียรีในอ่าวไทยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนตอนเหนือของอ่าวประกอบด้วยแอ่งปัตตานี (Pattani trough) ซึ่งเป็นแอ่งใหญ่สุด ลักษณะยาวรี วางตัวแนวเหนือ-ใต้ มีความกว้างประมาณ 70 กิโลเมตร และยาวประมาณ 400 กิโลเมตร มีชั้นหินยุคเทอร์เชียรีหนาประมาณ 8,000 เมตร วางตัวแบบรอยชั้นไม่ต่อเนื่องอยู่บนหินแกรนิตยุคครีเทเชียสและหินแปรมหายุค พาลีโอโซอิก โดยตะกอนที่สะสมตัวช่วงสมัยโอลิโกซีนนั้นเกิดในสภาวะที่เป็นทะเลสาบและช่วง สมัยไมโอซีนเกิดการสะสมตามทางน้ำและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ แอ่งปัตตานีประกอบด้วยแอ่งย่อยหลายๆ แอ่ง อาทิ แอ่งเอราวัณ แอ่งปลาทอง แอ่งไพลินและแอ่งบรรพต เป็นต้น สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนใต้เป็นแอ่งมาเลย์เหนือซึ่งเป็นแอ่งเทอร์เชียรีขนาด ใหญ่ครอบคลุมพื้นที่เขตแดนไทยและทางตอนเหนือของมาเลเซีย ลักษณะของแอ่งเป็นรูปยาวรีวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ อยู่เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแอ่งปัตตานี มีการสะสมตะกอนในสภาวะแวดล้อมเช่นเดียวกับแอ่งปัตตานี และมีความหนาถึง 8,000 เมตรเช่นกัน ประกอบด้วยแอ่งย่อยต่างๆ อาทิ แอ่ง บงกช แอ่งบุษบง และแอ่งต้นสักเป็นต้น อนึ่ง ทางด้านตะวันตกของอ่าวไทยใกล้จังหวัดชุมพรยังมีแอ่งเทอร์เชียรีขนาดย่อมอีก แห่งคือแอ่งชุมพร มีชั้นหินเทอร์เชียรีหนาประมาณ 4,000-5,000 เมตร แอ่งเทอร์เชียรีในอ่าวไทยเป็นแหล่งทรัพยากรก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ สำคัญของประเทศ